การเงินในชีวิตคู่
ดร. สมใจ รักษาศรี
“เงิน” เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คู่สมรสขัดแย้งกันได้ง่าย ๆ และนำมาซึ่งความตึงเครียดในครอบครัว ผลการสำรวจพบว่าปัญหาเรื่องเงินเป็นปัญหาลำดับต้น ๆ ของการใช้ชีวิตคู่ ยิ่งถ้าสภาพการเงินเป็นแบบ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ต้องเป็นหนี้เป็นสิน ต้องหยิบยืม ก็ยิ่งสร้างความตึงเครียดให้กับชีวิตคู่ หลายคู่มีปากมีเสียงกัน เพราะเมื่อเงินไม่พอใช้ก็อาจจะมีการกล่าวโทษกันไปมาว่าใช้เงินเปลืองหรือแม้ กระทั่งไม่รู้จักช่วยกันทำมาหากิน ซึ่งจะนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง และกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นได้
เพื่อไม่ให้ชีวิตคู่ประสบกับความตึงเครียดที่มีต้นเหตุมาจาก “เงิน” คู่สมรสต้องทำความเข้าใจกับ การเงินในชีวิตคู่ อย่างที่มันควรจะเป็น และจัดการกับมันอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องควบคุมดูแลมันและจัดการกับ การเงินทองในชีวิตคู่ ให้ดี และอย่าให้มันกลายมาเป็นศัตรูทำร้ายคุณทั้งสองคน
วิธีบริหารการเงินมีผลอย่างมากต่อความราบรื่นหรือความขลุกขลักจนกลายเป็นปม ขัดแย้งในชีวิตคู่ ในที่นี้จะผมจะอธิบายถึงวิธีบริหารการเงินที่คู่สมรสใช้กัน และจะชี้ให้เห็นข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธี
วิธีแรก “แยกกระเป๋า”
คือ ต่างฝ่ายต่างเก็บเงินที่ตนเองหามาได้และถือว่าเงินนั้นเป็นของตัวเอง และมีการแบ่งปันความรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้านกัน เช่น สามีรับผิดชอบเรื่องค่าเช่าบ้านหรือค่าผ่อนบ้าน ภรรยารับผิดชอบเรื่องค่าอาหารและเครื่องใช้ในบ้าน เป็นต้น เงินที่เหลือเป็นสิทธิของแต่ละคน จะก้าวก่ายกันไม่ได้ แต่สามารถขอเพิ่มเติมได้ถ้ามีความจำเป็น ข้อดีของวิธีนี้คือง่ายและสะดวก แต่วิธีนี้มีจุดอ่อนหลายประการ ได้แก่
- ไม่ส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสามีภรรยา เพราะต่างฝ่ายต่างสามารถใช้เงิน “ของตนเอง” โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อกัน และไม่ต้องคำนึงว่าการใช้จ่ายของตนเองจะส่งผลอย่างไรต่อคู่สมรส
- คนทั้งสองอาจมีรายได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นการแบ่งความรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง กัน เพราะฝ่ายหนึ่งอาจจะรู้สึกว่าตนเองต้องรับภาระในค่าใช้จ่ายมากกว่าอีกฝ่าย หนึ่ง
- ไม่ส่งเสริมในเรื่องการเก็บออมเงินสำหรับครอบครัว
- อาจจะมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่นึกไม่ถึงในขณะตกลงเรื่องความผิดชอบกัน และเมื่อถึงเวลาต้องจ่ายอาจจะทำให้เกี่ยงกันหรือขัดแย้งกันว่าใครควรจะเป็น คนจ่าย
- ในกรณีที่สามีเป็นผู้หารายได้คนเดียวและภรรยาทำหน้าที่แม่บ้าน อาจจะทำให้ฝ่ายที่หารายได้วางอำนาจและไม่สนใจความรู้สึกของภรรยา ทำให้ภรรยาเกิดความอึดอัดคับข้องใจ และไม่ภูมิใจในตัวเอง ในทางกลับกัน ฝ่ายสามีก็อาจจะไม่รู้สึกภูมิใจในตัวภรรยา เพราะคิดว่าตนเองเท่านั้นที่ต้องแบกภาระในเรื่องรายรับรายจ่ายของครอบครัว
บางคู่ใช้วิธี “แยกกระเป๋า” แบบปรับปรุง คือ สามีมอบรายได้จำนวนหนึ่ง (ตามแต่จะตกลงกันไว้ เช่น ครึ่งหนึ่ง สองในสาม) ให้กับภรรยา (บางคนเรียกเงินส่วนนี้ว่าเป็นเงินเดือนของภรรยา) และให้ภรรยาเป็นคนที่รับผิดชอบดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดในครอบครัว เงินส่วนที่เหลืออยู่ของสามีนั้นเป็นเงินที่สามีจะใช้อย่างไรก็ได้ตามใจสามี และหากเงินส่วนตัวไม่พอใช้ก็อาจจะมาขอเพิ่มเติมจากภรรยา
วิธีที่สอง “กระเป๋าเดียวกัน”
คือ นำรายได้ของทั้งสองฝ่ายมารวมกันเป็นกองกลาง และทั้งคู่จะใช้จ่ายจากเงินกองกลาง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวหรือค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัว ข้อดีของวิธีนี้คือมีเงินกองกลางของครอบครัวอย่างชัดเจน โดยไม่คำนึงว่าใครจะมีรายได้มากกว่าใคร (หรือในบางกรณีอาจจะเป็นรายได้จากฝ่ายเดียวเท่านั้น) เพราะเมื่อนำเงินมารวมกันแล้ว เงินทั้งหมดก็กลายเป็นเงิน “ของเรา” แต่จุดอ่อนของวิธีนี้ก็มีหลายอย่าง อาทิ
- ต้องมีงบประมาณที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นเงินกองกลางอาจจะถูกใช้ไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นจนทำให้เงินไม่พอใช้
- ต้องมีคนที่จะรับผิดชอบดูแลเงินกองกลาง บางคู่ที่มาปรึกษาผมใช้วิธีบริหารเงินแบบนี้ แต่เอาเงินกองกลางใส่ซองไว้ ใครต้องการก็หยิบเอาไป ในที่สุดเมื่อเงินไม่พอใช้ต่างฝ่ายต่างก็กล่าวโทษกันและกลายเป็นความขัดแย้ง ในที่สุด
- คนที่รับผิดชอบเงินกองกลางต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างละเอียด ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ในขณะเดียวกันคนที่นำเงินกองกลางออกไปใช้จ่ายก็ต้องบอกให้คนที่รับผิดชอบทำ บัญชีทราบว่าเอาไปใช้จ่ายอย่างไร
- ต้องไม่เอาเงินกองกลางไปใช้จ่ายส่วนตัวโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่รับรู้หรือไม่ เห็นด้วย ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้ง
- ต้องใช้จ่ายอย่างรับผิดชอบ และคำนึงถึงอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ
วิธีที่สาม “กระเป๋าเธอ กระเป๋าฉัน และกระเป๋าเรา”
วิธีนี้ปรับปรุงมาจากวิธีที่หนึ่งและวิธีที่สอง คือ ต่างฝ่ายต่างนำเงินมารวมกันเป็นกองกลาง แต่ขณะเดียวกันแต่ละฝ่ายจะมีเงินติดกระเป๋าจำนวนหนึ่งเพื่อไว้เป็นเงินใช้ จ่ายส่วนตัว การใช้จ่ายเงินส่วนตัวนี้จะบอกให้กันรู้หรือไม่บอกก็ได้ ถือว่าเป็นสิทธิที่แต่ละฝ่ายพึงได้รับ
ดูเหมือนว่าครอบครัวยุคใหม่ที่สามีและภรรยาต่างมีรายได้ชอบใช้วิธีนี้ในการบริหารการเงิน ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ
- มีเงินกองกลางสำหรับค่าใช้จ่ายในครอบครัว
- มีเงินส่วนตัวที่แต่ละคนสามารถใช้ได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่พอใจ
- คำว่า “กระเป๋าของเรา” ทำให้เกิดความรู้สึกว่าทั้งสามีและภรรยาต้องช่วยกันดูแลเงินทองในครอบครัว ซึ่งถ้าจัดการได้ดี ก็จะมีเงินส่วนที่เหลือซึ่งจะกลายเป็น “เงินออมของเรา” มากขึ้น
- วิธีนี้จะทำให้ทั้งสามีและภรรยาเกิดความผูกพันและภูมิใจในการสร้างครอบครัวร่วมกัน
แต่การบริหารเงินด้วยวิธีนี้ก็ยังต้องมีข้อควรระวังในเรื่องเงินกองกลางดังนี้
- ต้องมีนโยบายในการใช้เงินกองกลางอย่างชัดเจน (ถ้ารู้จำนวนแน่นอนก็ให้ระบุลงไป แต่ถ้าไม่รู้จำนวนแน่นอนก็ประมาณการให้ใกล้เคียงที่สุด) ค่าใช้จ่ายในครอบครัวอาจจะแบ่งเป็น
- ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเล่าเรียนลูก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เครื่องอุปโภคในชีวิตประจำวัน อาทิ สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายเพื่อความสะดวกสบายในชีวิต เช่น การไปเที่ยวพักผ่อน
- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าประกัน เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด
- เงินออม
- ต้องมีคนดูแลรับผิดชอบเงินกองกลางของครอบครัว โดยการควบคุมรายจ่าย ทำบัญชี และจัดสรรเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้
- ต้องมีการปรึกษาและตัดสินใจร่วมกัน หากต้องใช้เงินไปกับเรื่องที่อยู่นอกเหนือรายจ่ายปกติ
สำหรับผมและภรรยานั้นเราใช้วิธีที่สาม และตลอดเวลาเกือบ 34 ปีของการใช้ชีวิตคู่ เราพบว่าวิธีนี้ไม่ทำให้เราเกิดความขัดแย้งในเรื่องเงิน
หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม หรือต้องการคำปรึกษา ติดต่อมาที่ 081 8690270